บทความ


 พยาธิแพทย์พันธุกรรมที่หายาก

พยาธิแพทย์เป็นแพทย์เฉพาะทาง (ที่ผมเป็นอยู่) สาขาหนึ่งแบ่งเป็นสองอนุสาขาคือ พยาธิวิทยาคลินิกและพยาธิวิทยากายวิภาค

แพทย์พยาธิวิทยาคลินิก เป็นแพทย์ที่รอบรู้เกี่ยวกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ พูดง่ายๆคือรู้ว่า การตรวจต่างๆ มันช่วยวินิจฉัยโรคอย่างไร มีความแม่นยำเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ตรวจอย่างไรใช้สิ่งส่งตรวจอะไร ควบคุมคุณภาพอย่างไร แปรผลอย่างไร ฯลฯ

แพทย์พยาธิวิทยากายวิภาค เป็นแพทย์เฉพาะทางที่ตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างว่าเป็นโรคอะไร รวมทั้งตรวจดูการรุกลามของรอยโรค และลักษณะทางเนื้อเยื่อต่างๆเพื่อบอกการพยากรณ์โรคและวางแผนการรักษา  รวมทั้งการตรวจศพเพื่อการศึกษาโรคและบอกสาเหตุการตายและร่องรอยการดำเนินโรคในระยะต่างๆเพื่อเชื่อมโยงกับลักษณะทางคลินิก(การตรวจร่างกาย อาการและอาการแสดง)

สำหรับเมืองไทยจะเป็นพยาธิแพทย์ได้ต้องเรียนเป็นแพทย์เฉพาะทาง คือหลังจบจากปี 6 แล้ว อาจเป็น intern 1 ปีก่อนแล้วมาเรียน หรือจบปี 6 แล้วมาเรียนต่อเลยก็ได้ ใช้เวลาเรียนเท่ากันคือ 3 ปี สามารถเลือกเรียนได้ 3 อนุสาขา คือ พยาธิวิทยาคลินิก พยาธิวิทยากายวิภาค และพยาธิวิทยาทั่วไป สาขาหลังนี้ เรียนพยาธิกายวิภาค 2ปี พยาธิคลินิก 1 ปี

ในหมู่วิชาชีพแพทย์เฉพาะทางที่แพทย์จบใหม่ไม่นิยมเลือกจะเป็นกัน สมัยผมจบใหม่ก็มีพยาธิแพทย์ นิติเวชแพทย์ วิสัญญีแพทย์ จิตแพทย์ และรังสีแพทย์ ในปัจจุบันความนิยมเปลี่ยนไปมาก มีแพทย์จบใหม่หันมาเรียนกันมากขึ้น อย่างเช่น รังสีแพทย์ วิสัญญีแพทย์ จิตแพทย์ หรือแม้แต่ นิติเวชแพทย์ ทำให้สาขาแพทย์เฉพาะทางสาขาที่ไม่เป็นที่นิยมเรียนของแพทย์จบใหม่ลดน้อยลง  จนเกือบจะเรียกได้ว่าเหลือพยาธิแพทย์สาขาเดียวที่แพทย์จบใหม่ยังคงไม่นิยมเลือกเรียน

แม้ว่าจำนวนแพทย์จบใหม่ที่เลือกเป็นพยาธิแพทย์มีมากขึ้น แต่เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่เพิ่มเนื่องจากปีหนึ่งๆมีแพทย์จบใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัว

สาเหตุที่แพทย์เลือกเรียนพยาธิวิทยากันน้อยกว่าสาขาอื่นมีหลายประการ อาทิลักษณะงานแบบปิดทองหลังพระที่ไม่ได้พบเจอกับคนไข้โดยตรง  เจอแต่อวัยวะ หรือชิ้นส่วนของอวัยวะที่ตัดออกมาเพื่อการตรวจรักษา จะเจอทั้งร่างก็ตอนส่วนมากก็ตอนไม่มีวิญญาณแล้ว  คนไข้ส่วนมากไม่รู้ และไม่มีโอกาสรู้ว่าพยาธิแพทย์ทำอะไรให้กับเขา พยาธิแพทย์จึงเป็นตัวพ่อตัวแม่ของผู้ปิดทองหลังพระ

 การตรวจศพและชิ้นเนื้อศัลยกรรมก็ไม่เป็นที่น่าอภิรมย์นักเพราะต้องพบกับของเสียของเน่า  ความสกปรกเลอะเทอะ  เชื้อโรค และอวัยวะที่เป็นรอยโรค บางครั้งก็น่ากลัวและ .... ลองคิดดูว่าถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ถ้ามะเร็งมันทำให้ลำไส้อุดตัน แล็ว ขี้ในไส้ มันจะไปอยู่ไหน เมื่อศัลยแพทย์ตัดออกมาแล้วส่งมาให้พยาธิแพทย์ตรวจส่วนมากก็จะส่งมาทั้งหมดซึ่งรวมถึง ขี้ในไส้ ด้วย แล้วใครเป็นคนล้างล่ะ บางทีเป็นกิโลเลย  แล้วอุตส่าห์เรียนแพทย์ ให้มาล้างขี้เหรอ  คิดหนักนะ

พยาธิวิทยายังเป็นวิชาที่ยาก  นอกจากต้องรู้จักประสมประสานและประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  วิทยาศาสตร์พื้นฐานที่กว้างและลึกหลายแขนง แล้วยังต้องอาศัยทักษะทางภาษา การสื่อสารและศิลปะอื่นๆอีกด้วย 

พยาธิแพทย์ที่ดีต้องเป็นคนช่างสังเกต รอบคอบ  เป็นนักแกะรอยหรือนักสืบ คิดแบบเป็นเหตุเป็นผล และเชิงวิพากษ์ได้เอง

โอ๊ะโอ.. แล้วจะหาใครมาเรียนล่ะ  ให้คนเก่งๆมาล้างขี้เนี่ยนะ เฮ่อ!

ครับหายากที่รู้ข้อมูลเชิงลึกแล้วจะชอบแล้วเลือกเรียน  บางคนที่เลือกมาก็ต้องเรียกว่าอุทิศตนมา บางส่วนก็เลือกมาเพราะความไม่รู้ว่าพยาธิแพทย์ทำอะไร และต้องเจออะไร มาแล้วก็เลิกกลางครันบ้าง บางคนก็ทู่ซี้เรียนจนจบแล้วไปประกอบอาชีพอื่นซะเลย

ปัจจุบันมีพยาธิแพทย์ในประเทศไทยทั้งสามอนุสาขาและนิติเวชศาสตร์ด้วย ประมาณ 500 คน ที่ปฏิบัติงานทางพยาธิวิทยาจริงๆ ไม่ถึง 300 คนครับ น้อยมากสำหรับประชากร 65 ล้านคน